ปัจจัยเสี่ยงอาการประสาทหูเสื่อม
พฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบัน พบว่ามีผู้ป่วยที่มีภาวะประสาทหูเสื่อมก่อนวัยมากขึ้น แล้วพฤติกรรมอะไรกันบ้าง ที่ทำให้การได้ยินลดลงไปทั้งที่อายุก็ยังไม่มาก เรามาเช็คกันหน่อยดีกว่า ว่าใช่สิ่งที่คุณเป็นอยู่หรือเปล่า?
1. ชอบใช้หูฟัง เปิดเพลงเสียงดังเป็นเวลานานๆ เวลาไปไหนมาไหนคนเดียวก็ต้องใส่หูฟังเพื่อเปิดเพลงฟังแก้เหงาตลอด ด้วยการเปิดเพลงดังๆ เกิน 80 เดซิเบล ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ที่จะทำให้ประสาทหูของคุณเสื่อมก่อนวัยอันควร
2. ชอบแคะหูบ่อย เพราะเข้าใจว่า ขี้หู ที่มีนั้นเป็นสิ่งที่สกปรก ต้องแคะออก ทั้งที่จริงๆ แล้ว ขี้หูมีหน้าที่ในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ไม่ว่าจะเป็นพวกแมลง ผง หรือฝุ่นละอองต่างๆ รวมทั้งคอยทำลายเชื้อแบคทีเรีย หากเราแคะขี้หูออกไปจนหมดก็จะขาดเกราะในการป้องกันหูจากอันตราย
3. ติดการกิน "รสเค็ม" ไม่เพียงแค่พฤติกรรมการฟังเสียงดังบ่อยๆ เท่านั้น แต่พฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะ กินเค็มจัด เป็นประจำ ก็ทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วได้ เพราะการกินเค็มสะสมเป็นเวลานานๆ ทำให้ท่อน้ำในหูชั้นในโป่ง และแตก เกิดภาวะไม่เท่ากันของเกลือแร่ หรือที่เราเรียกกันว่า อาการน้ำในหูไม่เท่ากัน เพราะประสาทหูเป็นสิ่งที่เปราะบาง
4. ชอบเที่ยว ในที่เสียงดัง รู้กันดีอยู่แล้วว่าสถานที่เที่ยวกลางคืน คือสถานที่ที่มีระดับความดังของเสียงสูง หรือโดยประมาณ 100-120 เดซิเบล การอยู่ในสถานที่เสียงดังระดับนี้ แม้จะไม่ได้อยู่นานมาก แต่หากไปเที่ยวเป็นประจำติดต่อกันนานๆ อาจส่งผลให้ประสาทหูเสื่อมก่อนวัยได้แน่นอน
5. การดำน้ำ กิจกรรมผ่อนคลายอย่างการดำน้ำ อาจไม่ใช่กิจกรรมที่ดีต่อประสาทหูเท่าไหร่ เพราะเมื่อเราต้องดำลงไปใต้น้ำ แรงกดดันใต้น้ำจะก่อให้เกิดการบีบอัดต่อศีรษะ และอวัยวะในช่องหู หากไม่สามารถปรับความดันระหว่างการดำน้ำได้ อาจส่งผลให้เกิดอาการ Barotruama หรืออาการปวดหูที่เกิดจากความดันที่ไม่สมดุลนั่นเอง
วิธีป้องกันไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น
1. สวมอุปกรณ์ป้องกันหูหากต้องอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง
2. ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเลือด ควรควบคุมให้ดี
3. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด
5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู
6. ลดอาหารเค็ม หรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม
7. งดการสูบบุหรี่
8. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีการได้ยินในหูลดน้อยลงอย่างเฉียบพลัน อย่างนิ่งนอนใจ เพราะถ้าให้การรักษาช้าไป อาจไม่ได้ยินอย่างถาวรได้