สุขภาพหูส่งผลต่อการได้ยิน และการทรงตัว
สุขภาพหูส่งผลต่อการได้ยิน และการทรงตัว
หู (Ear) เป็นอวัยวะสำคัญ มีหน้าที่รับเสียง และช่วยในการทรงตัว ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองโดยตรง ทำให้ 2 หน้าที่นี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากเกิดความผิดปกติของหูอาจทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาได้ เช่น มีอาการหูอื้อ บ้านหมุน วิงเวียนศีรษะ ไม่สามารถทรงตัวได้ จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
หูประกอบด้วย 3 ส่วน
1. หูชั้นนอก ประกอบด้วย
1.1 ใบหู เป็นกระดูกอ่อนที่หุ่มด้วยผิวหนังบางๆ ทำหน้าที่รวบรวมเสียง และรับเสียงเข้าสู่รูหู ไปเยื่อแก้วหู
1.2 รูหู เป็นท่อคดเคี้ยวเล็กน้อย ผนังของรูหูบุด้วยเยื่อบาง และเนื้อเยื่ออ่อน เต็มไปด้วยต่อมน้ำมัน ทำหน้าที่เคลือบผนังรูหูไว้ไม่ให้แห้ง และหล่อเลี้ยงรูหู ไขมันเหล่านี้เมื่อรวมกับสิ่งสกปรกต่างๆ ก็จะกลายเป็นขี้หู ซึ่งจะช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาทางรูหูไม่ให้เข้าถึงเยื่อแก้วหูได้ง่าย
1.3 เยื่อแก้วหู เป็นเยื่อบางๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปในส่วนของรูหู เป็นรอยต่อระหว่างหูชั้นนอกกับหูชั้นกลาง ทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียง ที่เดินทางเข้ามาทางรูหู
2. หูชั้นกลาง ประกอบด้วย
2.1 กระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน (Malleus) กระดูกทั่ง (Incus) และกระดูกโกลน (Stapes) โดยทั้ง 3 ชิ้นเชื่อมติดกันด้วยเอ็นยึดเพื่อขยายคลื่นเสียงให้มากขึ้น และส่งเข้าสู่หูชั้นใน
2.2 ท่อยูสเตเชียน (Eustachian Tube หรือ Auditory Tube) เป็นท่อเชื่อมหูชั้นกลางกับกับโพรงจมูก และติดกับคอหอย ซึ่งปกติแล้วท่อนี้จะขยับเปิดเมื่อเคี้ยวหรือกลืนอาหาร เพื่อปรับความดันภายใน ภายนอกให้เท่ากัน ทำให้ไม่เกิดอาการหูอื้อ
2.3 ช่องรูปไข่ (Oval Window) และช่องรูปกลม (Round Window) มีเยื่อบาง ๆ กั้นระหว่างหูชั้นกลาง และหูชั้นใน ซึ่งช่วยให้หูชั้นกลางทำหน้าที่ขยายเสียง และป้องกันอันตรายจากเสียงดังได้ดี
3. หูชั้นใน หูชั้นในทำหน้าที่รับเสียงและควบคุมการทรงตัวของร่างกาย ประกอบด้วย
3.1 โคเคลีย (Cochlea) มีลักษณะเป็นท่อยาวขดซ้อนกันเป็นรูปก้นหอย เป็นส่วนรับเสียง
3.2 ท่อครึ่งวงกลม (Semicircular Canal) และส่วนที่ควบคุมการทรงตัว (Vestibule) ประกอบด้วยแซกคูล (Saccule) และยูตริเคิล (Utricle) ซึ่งภายในมีของเหลวบรรจุอยู่ เมื่อของเหลวดังกล่าวมีการไหลจะกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกให้รู้ว่าขณะนี้ร่างกายอยู่ในตำแหน่งใดเพื่อช่วยในการทรงตัว
3.3 เซลล์ขน (Hair Cell) มีอยู่ตลอดแนวตั้งแต่ต้นท่อคอเคลีย (Cochlea) ไปจนถึงปลายท่อ จับความรู้สึกเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว และส่งกระแสประสาทไปยังสมองส่วนต่างๆ แล้วสมองจะส่งคำสั่งมาควบคุมการทรงตัวของร่างกายอีกต่อหนึ่ง
โรคที่พบบ่อยเกี่ยวกับหู
1. น้ำในหูไม่เท่ากัน
มักจะมีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน แน่นหู หูอื้อ ระดับการได้ยินขึ้นๆ ลงๆ
2. หินปูนในหูหลุด
มักจะมีอาการเวียนหัว บ้านหมุนสัมพันธ์กับการขยับศีรษะระยะเวลาในการเกิดอาการบ้านหมุนส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 นาที
3. ประสาทหูเสื่อม
มักจะมีอาการมีเสียงรบกวนในหู เช่น เสียงดังในหู เสียงวี้ด เสียงซ่า เสียงคล้ายจิ้งหรีดดังอยู่ในหู
4. หูดับฉียบพลัน
มักเกิดกับหูข้างใดข้างหนึ่งที่ได้ยินเสียงเบาลงทันทีในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
การวินิจฉัย
การซักประวัติ, การตรวจร่างกาย และการส่งการสืบค้นเพิ่มเติมโดยแพทย์
- การซักประวัติ ได้แก่ การสอบถามอาการทางหู และสาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมด ที่จะทำให้เกิดประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน
- การตรวจร่างกาย ได้แก่ การตรวจหูด้วยเครื่องส่องหู (Otoscope) เพื่อดูพยาธิสภาพของช่องหู, เยื่อบุแก้วหู, หูชั้นกลาง และบริเวณรอบหู และการตรวจร่างกายโดยทั่วไปที่พยายามหาสาเหตุของประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน
- การสืบค้นเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของเคมีในเลือด, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจการได้ยิน เพื่อยืนยันและประเมินระดับความรุนแรงของประสาทหูเสื่อมชนิดเฉียบพลัน, การตรวจคลื่นสมองระดับก้านสมอง และการถ่ายภาพรังสี เช่น เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง กระดูกหลังหู หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในผู้ป่วยบางราย
การรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถรักษาประสาทหูที่เสื่อมให้คืนดีในสภาพปกติได้ ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น อาการเวียนศีรษะ, เสียงดังในหู หรือป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
1. การให้ยาลดการอักเสบจำพวกสเตียรอยด์ (Oral Prednisolone)
เพื่อลดการอักเสบของประสาทหู และเซลล์ประสาทหู
2. การให้ยาขยายหลอดเลือด
เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น เช่น Nicotinic Acid, Betahistine
3. การให้กลุ่มวิตามิน
ช่วยบำรุงเส้นประสาท เช่น วิตามิน B หรือ B Complex
4. ยาลดอาการเวียนศีรษะ
เพื่อลดอาการวิงเวียนศีรษะในผู้ป่วยที่มีอาการนี้
5. บำบัดด้วย Hyperbaric Oxygen Therapy หรือ HBOT คือ การใช้ออกซิเจนบำบัดเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่างๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่อวัยวะที่ขาดเลือดได้ดีขึ้น
6. การนอนพักผ่อน
ตอนนอนควรยกศีรษะสูงประมาณ 30 องศาจากพื้นราบ เพื่อให้มีความดันในหูชั้นในน้อยที่สุด ไม่ทำงานหนัก หรือออกกำลังกายที่หักโหม บางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 สัปดาห์
การดูแลตนเอง
- หลีกเลี่ยงเสียงดัง หรือใส่อุปกรณ์ป้องกันหูเมื่ออยู่ในที่เสียงดัง
- จำกัดความดังของเสียง และจำกัดระยะเวลาที่ต้องฟังเสียงดังนานๆ
- ไม่ใช้นิ้ว หรืออุปกรณ์อื่นแคะหู ซึ่งอาจทำให้ขี้หูถูกเข้าไปลึกขึ้น เกิดแผลที่ช่องหู หรือเกิดแก้วหูทะลุได้
- ถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต ต้องควบคุมโรคให้ดี
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เช่น Aspirin, Amino Glycoside, Quinine เป็นต้น
- ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์ และเภสัชกรเสมอ เพราะยาบางชนิด เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาแก้ปวด หรือยาขับปัสสาวะบางชนิดอาจมีพิษต่อประสาทหู และประสาททรงตัว อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม หรือเสียการทรงตัวได้ หรือผู้ป่วยอาจแพ้ยา หรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้
- หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรือการกระทบกระเทือนบริเวณหู
- ลดอาหารเค็ม เพราะการรับประทานอาหารเค็มเป็นประจำจะมีผลทำให้ท่อน้ำในหูชั้นในโปร่งแล้วแตกได้ หรืออาจจะเกิดภาวะไม่เท่ากันของเกลือแร่ หรืออีกชื่อหนึ่งว่าน้ำในหูไม่เท่ากัน
- ลดการดื่มเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ, ชา, เครื่องดื่มน้ำอัดลม (มีสารคาเฟอีน), งดการสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน)
- พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดความเครียด วิตกกังวล
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ